สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) โดยกองนโยบายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร (กนม.) ร่วมกับสำนักงานมูลนิธิโครงการหลวง ดำเนินการขับเคลื่อนการสร้างการรับรู้ด้านมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารในสถานศึกษา ภายใต้โครงการการพัฒนาผู้นำด้านการมาตรฐานเยาวชนโครงการหลวง เพื่อพัฒนาและสร้างผู้นำเยาวชนโครงการหลวง ให้สามารถเป็นต้นแบบและถ่ายทอดการทำงานตามแนวทางโครงการหลวงให้แก่เยาวชนและบุคคลทั่วไปได้ และเสริมสร้างเครือข่ายและการรวมกลุ่มของเยาวชนในพื้นที่โครงการหลวงให้กับเยาวชน เจ้าหน้าที่โครงการหลวง และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมมีบทบาทในการส่งเสริมให้เกษตรกร โดยทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกรในการตรวจประเมินเบื้องต้น (Pre audit) และปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ส่งเสริมของโครงการหลวง รวมทั้งสอดคล้องกับกระบวนการผลิตพืชอาหารปลอดภัยตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure : SOP ของโครงการหลวงและกระบวนการตรวจรับรองของหน่วยตรวจกรมวิชาการเกษตร
การจัดสัมมนาครั้งได้รับเกียรติจากวิทยากรมาร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ ได้แก่ เรื่องความสำคัญของการตรวจรับรองตามมาตรฐานสินค้าเกษตรและความปลอดภัยด้านอาหาร โดยนายธนกฤต โภคากุลวัฒน์ นักวิชาการมาตรฐานชำนาญการ มกอช. เรื่องเทคนิคและแนวทางการสุ่มเก็บตัวอย่างดิน น้ำ พืช เพื่อวิเคราะห์ สารพิษตกค้างและเชื้อจุลินทรีย์ โดยวิทยากรสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เรื่องหลักเกณฑ์และข้อกำหนดการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP พืชอาหารตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP พืชอาหาร) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยนายทอม เตียะเพชร ผู้เชี่ยวชาญด้านการรับรองแหล่งผลิต GAP เรื่องงาน
ที่ต้องปฏิบัติของที่ปรึกษาเกษตรกรโครงการหลวง การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP พืชอาหาร) ตามมาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure : SOP และระบบบริหารคุณภาพ Quality Management System : QMS โดยวิทยากรโครงการหลวง และเรื่องแนวทางการตรวจรับรองแปลง GAP
โดยนายนิสิต บุญเพ็ง นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษ กรมวิชาการเกษตรนอกจากนี้ ยังได้ลงพื้นที่ฝึกปฏิบัติภาคสนาม ณ แปลงเกษตรกรของโครงการหลวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อฝึกตรวจประเมินแหล่งผลิต GAP พืชอาหาร ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP พืชอาหาร) ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พร้อมนำเสนอรายงานผลการฝึกตรวจประเมินแหล่งผลิต GAP
พืชอาหาร ตามมาตรฐานของโครงการหลวง ได้แก่ มาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP พืชอาหาร) มาตรฐานการปฏิบัติงาน Standard Operating Procedure : SOP และระบบบริหารคุณภาพ Quality Management System : QMS อีกด้วย
No Comments