กรมชลประทาน เดินหน้าเตรียมพร้อมบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนปี 2564 ให้เกษตรกรทำนาปีหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ หรือมีฝนตกชุกสม่ำเสมอ ตามนโยบายรัฐบาล และดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์
ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยหลังการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่า ปัจจุบัน (5พ.ค.64) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 36,463 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 48 ของความจุอ่างฯ รวมกัน สามารถรองรับน้ำในช่วงฤดูฝนได้รวมกันประมาณ 39,648 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 8,926 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 36 ของความจุอ่างฯ รวมกัน ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันประมาณ 15,945 ล้าน ลบ.ม. ภาพรวมผลการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2564 ที่ผ่านมา เป็นไปตามแผนที่วางไว้และมีปริมาณน้ำเพียงพอสำรองไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝน ต่อจากนี้ไปจะปรับเข้าสู่การบริหารจัดการน้ำฤดูฝน ตามมาตรการบริหารจัดการน้ำ 5 มาตรการ ได้แก่ จัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศให้เพียงพอตลอดทั้งปี การส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนหลังกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยให้เกษตรกรใช้น้ำฝนเป็นหลัก การบริหารจัดการน้ำท่าให้มีประสิทธิภาพสูงสุด การกักเก็บน้ำในเขื่อนให้ได้มากที่สุด สำหรับสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้าอย่างเพียงพอ และวางแผนป้องกันและบรรเทาอุทกภัย
นอกจากนี้ ยังได้สั่งการไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์น้ำหลาก ด้วยการกำหนดพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย กำหนดเจ้าหน้าที่รับผิดชอบพร้อมเฝ้าระวังติดตามวิเคราะห์แนวโน้มสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด บริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำให้อยู่ในเกณฑ์เก็บกัก (RULE CURVE) โดยพิจารณาปรับลดการระบายให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งได้เน้นย้ำให้ประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ด้ายท้ายน้ำให้รับทราบก่อนการระบายน้ำ 3-5 วัน การตรวจสอบอาคารชลประทานให้พร้อมใช้งานได้อย่างเต็มศักยภาพ และการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในพื้นที่เสียงอุทกภัย สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
ทั้งนี้ กรมชลประทาน จะเฝ้าระวังและติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมบริหารจัดการน้ำในทุกช่วงเวลาให้เป็นไปตามแผนที่กำหนด โดยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด สำหรับการทำนาปีกรมชลประทานเเนะนำให้เกษตรกรเพาะปลูกได้เมื่อกรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเข้าสู่ฤดูฝนและมีฝนตกในพื้นที่สม่ำเสมอ หากหน่วยงานหรือประชาชนท่านใดต้องการความช่วยเหลือ สามารถร้องขอไปได้ที่โครงการชลประทานทุกแห่ง หรือโทรสายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา
No Comments