News

ชป.แถลงข่าวสถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำฤดูน้ำหลากปี 2564

04/10/2021

อธิบดีกรมชลประทาน จัดแถลงข่าวสถานการณ์น้ำและการจัดการน้ำฤดูน้ำหลากปี 2564 ย้ำใช้ระบบชลประทานในการบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือไว้ในพื้นที่เสี่ยง เข้าไปช่วยเหลือได้ทันที ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและลดผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยมี ดร.ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน นายชูชาติ รักจิตร รองอธิบดีกรมชลประทาน และดร.กมล พรหมสาขา ณ สกลนคร ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์ข้อมูลเรดาห์และดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา กรมอุตุนิยมวิทยา ร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จากปริมาณฝนที่ตกในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าปริมาณฝนเฉลี่ยทั้งประเทศของปี 2564 สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 9% โดยเฉพาะในภาคเหนือและภาคกลางสูงกว่าค่าเฉลี่ย 9% เท่ากัน ในขณะที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือสูงกว่าค่าเฉลี่ย 1% จากอิทธิพลของพายุดีเปรสชั่น “เตี้ยนหมู่” ช่วงวันที่ 24-26 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา ทำให้เกิดฝนตกหนักในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ซึ่งส่วนใหญ่จะตกบริเวณด้านท้ายเขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา(เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) ณ วันที่ 3 ต.ค. 64 มีปริมาณน้ำในอ่างฯรวมกันเพียง 12,832 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำใช้การได้ 6,136 ล้าน ลบ.ม. ยังสามารถรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,000 ล้าน ลบ.ม.

ทั้งนี้ ฝนที่ตกหนักในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนล่างบริเวณจังหวัดกำแพงเพชร และในพื้นที่จังหวัดลำปาง ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำปิงสูงขึ้น และน้ำส่วนหนึ่งที่มาจากพื้นที่จังหวัดลำปาง ไหลลงสู่ลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพันในเขตจังหวัดสุโขทัย ทำให้มีน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำฝั่งขวาของแม่น้ำยมบริเวณ อ.เมืองสุโขทัย กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำท่าในลุ่มน้ำยม เพื่อดึงน้ำจากลำน้ำแม่มอกและคลองแม่รำพันให้ระบายลงสู่แม่น้ำยมได้สะดวกรวดเร็ว พร้อมกันนี้ได้หน่วงน้ำไว้ในพื้นที่แก้มลิงทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก เพื่อช่วยลดผลกระทบกับปริมาณน้ำที่ท่วมในพื้นที่จังหวัดสุโขทัยฝั่งตะวันตก รวมไปถึงช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลหลากลงสู่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาด้วย

ด้านแม่น้ำปิง ปัจจุบันปริมาณน้ำได้ลดลงแล้ว แต่ยังมีปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรังไหลมาสมทบกับแม่น้ำเจ้าพระยา ทำให้ต้องผันน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยารวม 376 ลบ.ม./วินาที(ฝั่งตะวันตก 331 ลบ.ม./วินาที และฝั่งตะวันออก 45 ลบ.ม./วินาที) เพื่อลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ปัจจุบัน (4 ต.ค.64) มีการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 2,771 ลบ.ม./วินาที และที่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 3,091 ลบ.ม./วินาที(รับน้ำได้สูงสุด 3,500 ลบ.ม./วินาที) กรมชลประทานจะบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ให้ไหลมาสู่ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา ไม่เกิน 3,200 ลบ.ม./วินาที โดยจะไม่ส่งผลกระทบกับกรุงเทพมหานครสำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำป่าสักที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้องระบายน้ำเพื่อลดปริมาณน้ำที่เกินระดับเก็บกักของเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ปัจจุบัน (4 ต.ค.64) มีการระบายลงสู่ด้านท้ายในอัตรา 1,133 ลบ.ม./วินาที แนวโน้มลดลง กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำในแม่น้ำป่าสัก โดยการผันน้ำบางส่วนออกทางคลองระพีพัฒน์ ผ่านประตูระบายน้ำ(ปตร.)พระนารายณ์ ลงสู่คลองรังสิตประยูรศักดิ์ คลองบางขนาก และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อสูบออกแม่น้ำบางปะกงและอ่าวไทยตามลำดับ  ช่วยลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่านเขื่อนพระรามหก และลดผลกระทบบริเวณ อ.ท่าเรือ อ.นครหลวง และ อ.พระนครศรีอยุธยา จ.พระนครศรีอยุธยา รวมทั้งลดปริมาณน้ำที่จะไหลผ่าน อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา อีกด้วย

ทั้งนี้ กรมชลประทาน นอกจากจะใช้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อควบคุมปริมาณน้ำ และรับน้ำเข้าคลองทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาแล้ว ยังได้ใช้ทุ่งรับน้ำบริเวณตอนล่างของลุ่มเจ้าพระยา 10 ทุ่ง รับน้ำเข้าไปเก็บไว้ช่วยลดยอดปริมาณน้ำที่จะไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่าง รวมไปถึงเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้งด้วย ปัจจุบัน (3 ต.ค.64) มีการรับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วรวม 878    ล้าน ลบ.ม. แบ่งเป็นทุ่งฝั่งตะวันออก 387 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ทุ่งเชียงราก 21 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งท่าวุ้ง 90 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก 123 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ่ม 131 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งบางกุ้ง 22 ล้าน ลบ.ม.  ด้านทุ่งฝั่งตะวันตกรับน้ำไปแล้วรวม 491 ล้าน ลบ.ม. ได้แก่ ทุ่งบางบาล-บ้านแพน 50 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งป่าโมก 49 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งผักไห่ 200 ล้าน ลบ.ม. ทุ่งเจ้าเจ็ด 45 ล้าน ลบ.ม. และ ทุ่งโพธิ์พระยา 147 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือพื้นที่ที่สามารถเก็บกักน้ำได้อีกประมาณ 590 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ในพื้นที่ตอนล่าง กรมชลประทาน ได้ใช้โครงการประตูระบายน้ำคลองลัดโพธิ์อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในการเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้ไหลลงสู่ทะเลได้เร็วขึ้น ถือว่าเป็นเครื่องมือที่จะช่วยบรรเทาอุทกภัยในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลได้เป็นอย่างมาก

สำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล จากปริมาณฝนที่ตกหนักสะสมในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ทำให้มีน้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มน้ำชีตอนบน ส่งผลให้มีน้ำไหลลงมายังแม่น้ำชีตอนกลางและลำน้ำสาขา ประกอบกับในช่วง 1-2 วันที่ผ่านมา ลุ่มน้ำมูลในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี มีปริมาณฝนตกสะสมประมาณ 150 มิลลิเมตร ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำมูลเพิ่มสูงอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบัน (3 ต.ค.64) ระดับน้ำบริเวณสถานีวัดน้ำ M.7 (บริเวณสะพานเสรีประชาธิปไตย) อำเภอเมืองอุบลราชธานี สูงกว่าตลิ่งประมาณ +0.45 เมตร แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบบริเวณที่ลุ่มต่ำริมสองฝั่งแม่น้ำมูล ในเขตเมืองอุบลราชธานี อำเภอวารินชำราบ กรมชลประทานได้ปรับแผนระบายน้ำจากเขื่อนและประตูระบายน้ำต่างๆ เพื่อพร่องน้ำและบริหารพื้นที่ลุ่มต่ำให้เป็นแก้มลิงหน่วงน้ำ เร่งระบายน้ำในลำน้ำ แม่น้ำ เพื่อรองรับน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบน พร้อมทั้งจัดจราจรน้ำในแม่น้ำชีตอนบน แม่น้ำชีตอนกลาง แม่น้ำชีตอนล่าง และแม่น้ำมูล ด้วยการปรับลดการระบายน้ำจากเขื่อนอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น เขื่อนลำปาว จังหวัดกาฬสินธุ์ และเขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี รวมทั้งชะลอน้ำที่เขื่อนชนบท จังหวัดขอนแก่น เขื่อนยโสธร จังหวัดยโสธร และเขื่อนหัวนา จังหวัดศรีสะเกษ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ด้านท้ายน้ำ เพื่อเร่งการระบายน้ำในแม่น้ำมูลตอนล่างให้ไหลลงแม่น้ำโขงให้เร็วมากขึ้น

 

ในส่วนของสถานการณ์อุทกภัย ปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัยรวมทั้งสิ้น 20 จังหวัด 87 อำเภอ โดยสรุป   มีดังนี้ จังหวัดสุโขทัย 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ทุ่งเสลี่ยม อ.ศรีสำโรง อ.บ้านด่านลานหอย อ.ศรีสัชนาลัย อ.เมือง อ.คีรีมาศ และ อ.สวรรคโลก เนื่องมาจากตั้งแต่กลางเดือนกันยายน 2564 เป็นต้นมา มีฝนตกหนักในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำในปริมาณมาก จนเกินระดับเก็บกักและไหลล้นผ่านอาคารระบายน้ำล้นหลายแห่ง อาทิ อ่างเก็บน้ำแม่มอก อ่างเก็บน้ำห้วยท่าแพ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่กองค่าย และแก้มลิงทุ่งทะเลหลวง ประกอบกับปริมาณน้ำในแม่น้ำยมที่เพิ่มสูงขึ้น โครงการชลประทานสุโขทัย ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 21 เครื่อง พร้อมบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของจังหวัดสุโขทัย ด้วยการชะลอน้ำ(หน่วงน้ำ)ไว้ทางด้านเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม(บ้านหาดสะพานจันทร์) เร่งผันน้ำเข้า ปตร.คลองหกบาท และใช้ระบบคลองเชื่อมฝั่งซ้ายแม่น้ำยม ในการผันน้ำเข้าสู่คลองแม่น้ำยมสายเก่า เพื่อลดระดับน้ำในเขตอำเภอเมือง

จังหวัดนครราชสีมา 3 อำเภอ ได้แก่ อ.โนนสูง อ.เมือง และ อ.โนนไทย เป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบด้านท้ายอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง) และปริมาณน้ำที่เอ่อล้นตลิ่งของลำน้ำมูลในหลายจุด ทั้งนี้ ในส่วนของสถานการณ์น้ำในอ่างฯลำเชียงไกร (ตอนล่าง) ปริมาณน้ำลดลงแล้ว ส่วนพื้นที่ด้านท้ายกรมชลประทานได้ติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำในลำเชียงไกร รวม 18 เครื่อง พร้อมเร่งดำเนินการซ่อมแซมทำนบดินชั่วคราวของอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร (ตอนล่าง)จนแล้วเสร็จ ช่วยลดผลกระทบพื้นที่ด้านท้ายอ่างฯ ได้เร็วขึ้น และเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งหน้า ตามข้อสั่งการของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ(กอนช.)

จังหวัดลพบุรี 1 อำเภอ บริเวณริมคลองชัยนาท-ป่าสัก ดังนี้ อ.บ้านหมี่ 6 ตำบล ได้แก่ ต.หนองกระเบียน ต.หนองเมือง ต.บ้านกล้วย ต.บ้านทราย ต.หนองทรายขาว และ ต.พุคา รวม 4,940 ครัวเรือน โครงการชลประทานลพบุรี ได้เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด พร้อมรายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบและแจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่

จังหวัดอุบลราชธานี 3 อำเภอ ซึ่งเป็นพื้นที่ตลิ่งต่ำน้ำท่วมซ้ำซาก ได้แก่ อ.เมือง อ.วารินชำราบ และ อ.ตระการพืชผล เนื่องจากอิทธิพลของพายุโซนร้อน “เตี้ยนหมู่” และการระบายในลำน้ำสายต่างๆ ลงสู่แม่น้ำมูล ทำให้น้ำเอ่อล้นตลิ่ง โครงการชลประทานอุบลราชธานี ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 4 เครื่อง และเครื่องผลักดันน้ำอีก 100 เครื่อง(แผนวางไว้ 200 เครื่อง) เร่งระบายน้ำไปลงแม่น้ำโขงให้เร็วที่สุด เพื่อรอรับน้ำเหนือที่กำลังจะลงมาอีกในระยะต่อไป

จังหวัดชัยภูมิ 16 อำเภอ รวมพื้นที่ประมาณ 157,211 ไร่ โดยเฉพาะบริเวณลุ่มน้ำลำคันฉู ลำปะทาว และลำน้ำพรม-เชิญ โครงการชลประทานชัยภูมิ ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำ 5 เครื่อง และติดตั้งเครื่องผลักดันน้ำ 8 เครื่อง เร่งระบายน้ำลงสู่แม่น้ำชี ปัจจุบันสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติแล้ว

“ผมได้สั่งการให้ทุกโครงการชลประทาน เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเตรียมความพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือ เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ทันที ที่สำคัญให้บูรณาการกับจังหวัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำในพื้นที่ให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง จนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝนหรือสถานการณ์เข้าสู่ภาวะปกติ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนให้มากที่สุด หากประชาชนต้องการความช่วยเหลือสามารถติดต่อได้ที่โครงการชลประทานใกล้บ้านหรือโทร.สายด่วนกรมชลประทาน 1460 ได้ตลอดเวลา” นายประพิศฯ กล่าวในที่สุด

No Comments

    Leave a Reply