News

ม.เกริก เปิดเวทีประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีน-อาเซียน มุ่งเรียนรู้ภาษาวัฒนธรรมจีน ประเทศมหาอำนาจของโลก

03/02/2023

ดร.ดนุช ตันเทิดทิตย์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติจีน-อาเซียน ครั้งที่ 1 ณ ศูนย์ประชุมวิชาการนานาชาติ มหาวิทยาลัยเกริกว่า การจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติจีน-อาเซียนในครั้งนี้ นับว่ามีความหมายอย่างยิ่ง เป็นที่ทราบกันดีว่าประเทศจีนเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่ทรงอิทธิพลต่อเศรษฐกิจโลก มีความก้าวหน้าในด้านอุตสาหกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างเต็มที่ อีกทั้งประเทศจีนก็กำลังบุกเบิกเส้นทางสายไหมศตวรรษที่ 21 ซึ่งจะเชื่อมโยงสู่การลงทุนในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม ที่ผ่านมาประเทศจีนและไทยมีความสัมพันธ์กันมายาวนาน โดยเฉพาะด้านการค้าการลงทุน จีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย ในขณะที่ไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพมากที่สุดในการลงทุน มีความพร้อมทั้งทางด้านเศรษฐกิจ ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เครือข่ายโครงสร้างพื้นฐาน เหมาะที่จะเป็นสะพานเชื่อมต่อระหว่างจีนกับอาเซียน รวมถึงการริเริ่มโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ของประเทศไทยนั้น ถือว่ามีความสอดคล้องกับนโยบาย “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” ของจีนเป็นอย่างมาก ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ล้วนมีส่วนช่วยในการส่งเสริมความร่วมมือของทั้งสองฝ่ายได้เป็นอย่างดี

จากการที่ภาษาจีนมีบทบาทอย่างมากในโลกยุคปัจจุบัน การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติจีน-อาเซียนครั้งนี้ จึงมุ่งเป้าหมายไปที่การเปิดโอกาสให้นักวิชาการได้นำเสนอผลงานวิจัยที่ดีเยี่ยมด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ ผ่านการเรียนรู้ภาษาและการทำความเข้าใจประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมระหว่างกัน เพื่อต่อยอดสู่การพัฒนาด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติของประเทศไทยและประเทศอาเซียนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้น

ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงเรียนระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษามากกว่า 2,700 แห่ง รวมถึงสถาบันระดับอุดมศึกษาอีกกว่า 100 แห่งที่เปิดสอนภาษาจีน ในขณะที่ประเทศจีนก็มีมหาวิทยาลัยมากกว่า 40 แห่งที่เปิดสอนสาขาวิชาภาษาไทย ความร่วมมือในลักษณะดังกล่าว ไม่เพียงแต่จะทำให้ชาวไทยและชาวจีนได้เรียนรู้ภาษาของกันและกัน แต่ยังเป็นการส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม จนก่อเกิดเป็นความสัมพันธ์ระหว่างชนสองชาติที่มีความกระชับแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม จึงมีนโยบายผลักดันการศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยให้มีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ศึกษา นักวิชาการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกภาคส่วน อีกทั้งเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศด้วย

ด้าน ดร. วิชิต ลอลือเลิศ ประธานสมาคมครูจีน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ การศึกษาภาษาจีนในประเทศไทยได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ยังคงประสบปัญหาด้านงานวิจัยทางวิชาการที่ยังไม่เพียงพอเท่าใดนัก การที่มหาวิทยาลัยเกริก ได้จัดงาน “การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ จีน-อาเซียน ภายใต้หัวข้อการสัมมนาที่เปิดกว้าง หลากหลายในครั้งนี้ ล้วนเป็นประเด็นสำคัญที่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันซึ่งนักวิชาการและนักวิจัยต้องการศึกษา จึงเชื่อมั่นว่าการประชุมวิชาการครั้งนี้จะมีบทบาทสำคัญอย่างมากในการส่งเสริมการศึกษาภาษาจีนนานาชาติในประเทศไทยและอาเซียน เพื่อยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษาภาษาจีนนานาชาติ จนนำไปสู่การพัฒนาการศึกษาด้านดังกล่าวอย่างยั่งยืน

ศาสตราจารย์ ดร.นายแพทย์กระแส ชนะวงศ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก กล่าวว่า ในขณะนี้มหาวิทยาลัยเกริก ได้จัดตั้งวิทยาลัยนานาชาติภาษาและวัฒนธรรมจีนขึ้น และได้มีการจัดทำหลักสูตรสาขาวิชาการศึกษาภาษาจีนนานาชาติให้กับคนไทยและชาวต่างชาติที่เข้ามาศึกษาในประเทศไทย ซึ่งมีจำนวนผู้สนใจเข้าเรียนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเพื่อเป็นการพัฒนาสาขาให้มีความทันต่อยุคสมัยและสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ ขึ้นมา จึงต้องมีการผลักดันให้เกิดงานวิจัยด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติให้มากขึ้น เพื่อเป็นการยกระดับมาตรฐานด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติให้เป็นที่สนใจและยอมรับทั้งในประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย

การประชุมวิชาการนานาชาติด้านการศึกษาภาษาจีนนานาชาติจีน-อาเซียน ครั้งที่ 1 ใช้รูปแบบการถ่ายทอดสดผ่านทางออนไลน์และแบบออฟไลน์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย อีกทั้งมีการเปิดให้สาธารณชนเข้าชมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกันได้อย่างเสรี เพื่อให้สอดรับกับพันธกิจด้านการส่งเสริมและพัฒนาสาขาวิชาภาษาจีนธุรกิจและสาขาวิชาการสอนภาษาจีนนานาชาติของวิทยาลัย และเพื่อให้งานดังกล่าวเป็นเวทีวิชาการในการนำเสนอผลงานวิจัย การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ การสร้างความร่วมมือทางวิชาการของนักศึกษา คณาจารย์ นักวิชาการ และนักวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเพื่อนำผลงานวิจัยไปสู่การพัฒนาการศึกษาภาษาจีนทั้งในประเทศไทย ประเทศจีนและในประเทศภูมิภาคอาเซียน

งานประชุมวิชาการครั้งนี้ ได้รับความสนใจจากนักวิชาการในประเทศไทย จีน มาเลเซีย เวียดนาม และประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอาเซียนเป็นอย่างมาก มีผู้ร่วมส่งผลงานวิจัยที่โดดเด่นกว่า 40 บทความซึ่งจะมีการตีพิมพ์และเผยแพร่ต่อไป อย่างไรก็ตาม ทางคณะผู้จัดงานก็เชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า งานครั้งนี้จะมีส่วนช่วยผลักดันการศึกษาและวิจัยภาษาจีนนานาชาติและงานวิจัยให้ก้าวไกลยิ่งขึ้น สามารถเป็นเวทีสำหรับนักวิชาการได้มีโอกาสสร้างสรรค์งานวิจัยที่มีความทันสมัย มีมาตรฐาน เกิดมิติใหม่ในการพัฒนาการศึกษาภาษาจีนนานาชาติในประเทศไทยและกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนต่อไปในอนาคต

No Comments

    Leave a Reply