News

อาเซียน 10 ประเทศเร่งปรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ให้สอดคล้องกัน

02/06/2021

เร่งเดินหน้าปรับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ประเทศอาเซียนให้สอดคล้องกัน ดันไทยผู้นำขายสินค้าอินทรีย์ไทยในตลาดอาเซียน และขยายสู่ตลาดโลก

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) หัวหน้าคณะฝ่ายไทย นำทีมคณะผู้แทนหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  ประกอบด้วย กรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เข้าร่วมการประชุม ASEAN Experts Working Group for Organic Agriculture (EWG-OA) ครั้งที่ 5 ผ่านระบบทางไกล Online Application Zoom โดยมีสาธารณรัฐสิงคโปร์ เป็นเจ้าภาพ เพื่อติดตามการเทียบเคียงมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของแต่ละประเทศสมาชิกกับมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียน (ASOA) ซึ่งพบว่าขณะนี้มีเพียง 2 ประเทศที่ผ่านการประเมินว่าเป็นไปตามข้อกำหนดขั้นต่ำ (Align) ของมาตรฐานอาเซียนแล้ว และมีประเทศที่ได้มีการแก้ไขมาตรฐานให้สอดคล้องกับอาเซียนรวมถึงประเทศไทยแต่ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาประกาศใช้

นายพิศาล กล่าวว่า ที่ประชุมฯ ได้มีการพิจารณาผลเทียบเคียงขั้นสุดท้าย (Group Validation) ของมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศสิงคโปร์ ซึ่งพบว่าส่วนใหญ่สอดคล้องกับอาเซียนยกเว้นการปลูกพืชอินทรีย์ในกระถาง ที่สิงคโปร์ต้องให้ข้อมูลเพิ่มเติมจึงจะสามารถประเมินได้ว่าใช้ดินจากฟาร์มที่ผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานหรือไม่ รวมถึงพิจารณาข้อเสนอโครงการการจัดทำเอกสารการฝึกอบรมผู้ฝึกสอนด้านมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของอาเซียนด้านพืชและผลิตภัณฑ์ และความก้าวหน้าของการจัดทำความตกลงการยอมรับร่วมด้านเกษตรอินทรีย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญที่จะสร้างความเข้มแข็งให้สินค้าอินทรีย์ของภูมิภาคอาเซียนให้มีอำนาจต่อรองและค้าขายได้ในตลาดโลก และการคัดเลือกประธานการประชุมคนใหม่ ซึ่งฟิลิปปินส์กำลังจะหมดวาระลง โดยสิงคโปร์จะเป็นประธานการประชุมคนต่อไป แต่เนื่องจากที่ประชุมเห็นถึงศักยภาพของประเทศไทยเสนอให้ประเทศไทยรับเป็นประธานการประชุม อีกทั้งในปี 2565 ประเทศไทยได้รับมอบหมายให้เป็นเจ้าภาพในการประชุมดังกล่าว

ทั้งนี้ สินค้าเกษตรมีโอกาสเติบโตในตลาดโลกอย่างมาก ซึ่งมีมูลค่าสูงถึงแสนกว่าล้านเหรียญสหรัฐ อัตราเติบโตปีละ 20% ตลาดที่สำคัญของโลกคือยุโรปและอเมริกาเหนือ และที่มีแนวโน้มสูงขึ้นมากคือ จีน ออสเตรเลีย และอาเซียน สำหรับในประเทศไทย มีมูลค่าตลาด 3,000 ล้านบาท และส่งออก 2,000 ล้านบาท

ประเทศไทยในฐานะประเทศผู้นำที่ร่วมในการประชุมดังกล่าวมาโดยตลอด ได้ให้ข้อคิดเห็นที่ทำให้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ของประเทศไทยสอดคล้องกับมาตรฐานอาเซียน เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรและผู้ประกอบการสินค้าอินทรีย์ไทยในการที่จะผลิตสินค้าอินทรีย์ให้สามารถจำหน่ายได้ในภูมิภาคเป็นการเปิดช่องทางการค้าขายสินค้าอินทรีย์ Organic Thailand ของไทยให้เป็นที่ยอมรับในตลาดอาเซียน

“มกอช. พร้อมที่รับเป็นเจ้าภาพในการประชุมครั้งต่อไป และจะเข้าร่วมประชุมเพื่อรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทยให้สินค้าอินทรีย์ของไทย มีความเข้มแข็งและเป็นผู้นำในการจำหน่ายสินค้าอินทรีย์ไทยในตลาดอาเซียนและขยายช่องทางไปยังตลาดโลกอย่างต่อเนื่องต่อไป” เลขาธิการ มกอช. กล่าวทิ้งท้าย

 

No Comments

    Leave a Reply