News

“บิ๊กป้อม”กำชับ กรมชลฯเดินหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำภาคตะวันออก

01/09/2022

วันนี้ (1 ก.ย.65) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำลุ่มน้ำบางปะกง โดยมี นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วย นายทินกร เหลือล้น ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 9 นายชุติมันต์ สกุลพราหมณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานชลประทานที่ 11 ดร.ธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา และผู้เกี่ยวข้อง บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำ ณ สถานีผลิตน้ำประปาฉะเชิงเทรา จ.ฉะเชิงเทรา

นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ในปัจจุบันพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา มีความต้องการใช้น้ำเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีฐานการผลิตอุตสาหกรรมหลายแห่ง และในช่วงฤดูแล้งมักขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค การเกษตร และการผลิตน้ำประปา รวมถึงปัญหาน้ำเค็มรุกล้ำแม่น้ำบางปะกง ซึ่งปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้น้ำ กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในพื้นที่ ด้วยการใช้พื้นที่ฝั่งขวาของแม่น้ำปะกง รับน้ำจากลุ่มน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำบางปะกง ผ่านคลองระพีพัฒน์ คลอง 13 ประตูระบายน้ำบึงฝรั่ง คลองนครเนื่องเขต และคลองพระองค์ไชยานุชิต เพื่อเป็นน้ำต้นทุนรองรับทุกกิจกรรมการใช้น้ำ การเกษตร รักษาระบบนิเวศ และสนับสนุนการผลิตน้ำประปาในเขตการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) ฉะเชิงเทรา กปภ.บางคล้า และ กปภ.บางปะกง

ส่วนในระยะยาว กรมชลประทาน ได้วางแผนพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง รวมทั้งควบคุมค่าความเค็มลุ่มน้ำบางปะกง โดยดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ 3 แห่ง ในพื้นที่ จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ่างฯ ห้วยกรอกเคียน ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง คืบหน้าแล้วกว่าร้อยละ 20 คาดจะแล้วเสร็จในปี 2567 หากก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถเก็บกักน้ำได้ 19.2 ล้าน ลบ.ม. ส่วนอ่างฯหนองกระทิง มีแผนดำเนินการก่อสร้างในปี 2567 และอ่างฯ คลองกะพง ปัจจุบันออกแบบและดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมเสร็จเรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ยัง ได้วางแผนดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำอีก 6 แห่ง เพื่อเชื่อมโยงการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำนครนายก ลุ่มน้ำปราจีนบุรี และลุ่มน้ำบางปะกง ได้แก่ อ่างฯ คลองบ้านนา อ่างฯ คลองมะเดื่อ อ่างฯ วังมืด อ่างฯ ลำพระยาธาร อ่างฯ ใสน้อยใสใหญ่ และอ่างฯ คลองหนองแก้ว ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา EIA หากดำเนินการแล้วเสร็จสมบูรณ์ทุกโครงการ จะสามารถเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนได้มากถึง 772.7 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนเขื่อนบางปะกง ต.บางแก้ว อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา กรมชลประทานมีแผนงานซ่อมแซม เพื่อปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน โดยได้เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณงบกลาง ปี 2565 ปัจจุบันสำนักงบประมาณได้เสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโครงการแล้ว และสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) จะนำเสนอคณะรัฐมนตรี เพื่ออนุมัติต่อไป

ในการนี้ รองนายกรัฐมนตรี ได้กำชับให้กรมชลประทานเร่งพัฒนาแหล่งน้ำต้นทุนโดยเฉพาะโครงการที่ได้รับงบประมาณ และโครงการสำคัญที่ผ่าน กนช. แล้ว รวมถึงการปรับปรุงเพิ่มความสามารถการบริหารจัดการน้ำของเขื่อนทดน้ำบางปะกง พร้อมเร่งดำเนินการก่อสร้างแหล่งน้ำที่ได้รับงบประมาณให้แล้วเสร็จตามแผนที่กำหนด เพื่อให้สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

No Comments

    Leave a Reply