News

“กสศ.”จับมือคณะทัศนมาตรศาสตร์ ม.รามคำแหง  จัดกิจกรรมต้นแบบ  “คืนดวงตาให้เด็กและเยาวชนไทย” 

01/07/2021

ในยุคเทคโนโลยีที่ทุกคนสามารถเข้าถึงอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ง่ายขึ้น จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่แนวโน้มด้านปัญหาสายตาจะมากขึ้นตามไปด้วยโดยเฉพาะเด็กปฐมวัยที่ต้องอาศัยการเรียนรู้ด้วยสายตาเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการและหากเด็กเกิดปัญหาทางสายตาโดยที่ไม่สามารถเข้าถึงบริการตรวจคัดกรองตั้งแต่เนิ่นๆก็อาจมีผลกระทบต่อการศึกษาและหน้าที่การงานในอนาคตได้‘นักทัศนมาตร’ จึงมีบทบาทสำคัญในการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพสายตาแก่เด็กวัยเรียน 

ท่ามกลางแดดร้อนระอุยามบ่าย อาจารย์และนักศึกษาจากคณะทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ได้เดินทางมาถึงโรงเรียนวัดหัวเขา อำเภอเดิมบางนางบวช จังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมกับคณะทำงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เพื่อตรวจคัดกรองปัญหาสายตาให้กับเด็กนักเรียนชั้นอนุบาลจนถึงชั้น ป.3 โดยมีกลุ่มคุณครูพานักเรียนมารอรับบริการและคอยอำนวยความสะดวกให้กับทีมนักทัศนมาตรอย่างเต็มที่ ระหว่างที่อาจารย์และนักศึกษากำลังจัดเตรียมสถานที่และอุปกรณ์อยู่นั้น ทีม กสศ. ก็ชวนเด็กๆ พูดคุยและทำกิจกรรมรอเวลา เด็กๆ ให้ความร่วมมืออย่างแข็งขันไม่แพ้ทีมนักทัศนมาตรที่กำลังขะมักเขม้นกับเครื่องมือและอุปกรณ์เช่นกัน

กิจกรรมการตรวจวัดสายตาเป็นไปอย่างราบรื่นและใช้เวลาไม่มากนัก เนื่องจากเป็นโรงเรียนขนาดเล็ก ณัชอาภา พวงมาลัย หรือ อาจารย์ทราย จากคณะทัศนมาตรศาสตร์ เล่าให้ฟังว่า การลงพื้นที่ตรวจวัดสายตาให้กับเด็กๆ ในครั้งนี้เป็นประสบการณ์นอกสถานที่ครั้งแรกของนักศึกษาชั้นปีที่ 5 ที่เคยผ่านการฝึกปฏิบัติในคลินิกของมหาวิทยาลัยมาบ้างแล้ว และการลงภาคสนามจะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยการปฏิบัติจริง  “โดยปกติแล้วนักทัศนมาตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง จะมีการออกหน่วยตรวจวัดสายตาตามโรงเรียนหรือชุมชนต่างๆ อยู่แล้ว เบื้องต้นเราจะทำการคัดกรองก่อนว่า เด็กๆ มีปัญหาสายตาหรือไม่ พอคัดกรองแล้วคนไหนที่จำเป็นต้องใช้แว่น เราก็วัดค่าสายตา และตรวจด้วยว่ามีปัญหาด้านอื่นอีกหรือไม่ เช่น การใช้ตาสองข้างร่วมกัน เพราะเด็กที่มีปัญหานี้ แม้สายตาจะยังดีอยู่ แต่อาจจะมีปัญหาอื่นๆ ในการเรียนตามมา เช่น การอ่านหนังสือ การมีสมาธิในการเรียน รวมถึงโรคตาอื่นๆ ด้วย ถ้าเราเจอปัญหาแต่เนิ่นๆ เราสามารถแนะนำให้ส่งต่อไปยังจักษุแพทย์ได้”

อาจารย์ทรายอธิบายว่า ปัญหาสายตาเป็นปัญหาที่มักถูกมองข้าม เนื่องจากตัวเด็กเองอาจจะยังไม่เข้าใจว่า ภาพที่ตนมองเห็นเป็นภาพปกติหรือไม่ จึงเป็นหน้าที่ที่ผู้ใหญ่ควรให้ความสำคัญไม่น้อยกว่าปัญหาสุขภาพด้านอื่นๆ ซึ่งทัศนมาตรศาสตร์เป็นหนึ่งในความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ดูแลทั้งปัญหาสายตาและสุขภาพของดวงตาในระบบสุขภาพปฐมภูมิ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นศาสตร์ที่ค่อนข้างใหม่ในประเทศไทย บุคลากรด้านทัศนมาตรจึงมีน้อย ทำให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าไม่ถึงบริการคัดกรองปัญหาสายตา จนอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการมองเห็นในที่สุด “เพราะปัญหาสายตาจำเป็นต้องแก้ไขตั้งแต่วัยเด็ก พอไม่ได้แก้แล้วปล่อยไว้จนโต ปัญหานั้นก็อาจแก้ไขไม่ทันการเสียแล้ว

“เด็กที่มีปัญหาสายตาและไม่ได้มีทุนทรัพย์มากพอ ก็เหมือนถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โอกาสที่เขาจะได้รับการศึกษาที่ดีก็น้อยอยู่แล้ว แต่พอได้รับโอกาสแล้วก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่ ซึ่งมีผลเชื่อมโยงกับอาชีพของเขาในอนาคตด้วย แทนที่เขาจะได้ประกอบอาชีพตามที่หวังไว้ ก็อาจถูกจำกัดด้วยปัญหาสายตาที่ไม่ได้รับการแก้ไขตั้งแต่ยังเด็ก  “เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ที่ต้องใส่ใจ ให้เด็กได้รับการคัดกรองที่เหมาะสม และเมื่อทราบปัญหาแล้ว สิ่งท้าทายคือเด็กจะได้รับการดูแลต่อเนื่องหรือไม่ เพราะหลายครั้งด้วยสภาพแวดล้อมที่ทำให้เด็กไม่สามารถเข้าถึงการรักษาที่เหมาะสม โดยเฉพาะในชุมชนห่างไกลอาจจะเข้าถึงได้ยากกว่า โอกาสที่เด็กจะได้รับการแก้ไขก็น้อยลง”

กระบวนการคัดกรองของนักทัศนมาตรในครั้งนี้แบ่งออกเป็น 3 สถานี ได้แก่ การอ่านป้ายตรวจวัดสายตา (visual acuity chart) ซึ่งเป็นการคัดกรองเบื้องต้น เด็กส่วนใหญ่สามารถผ่านขั้นตอนนี้ไปได้ แต่มีบางคนที่ต้องไปต่อที่สถานีวัดสายตาและสถานีลองแว่นเลนส์สายตา เพื่อตรวจในเชิงลึก

จากเด็กประมาณ 50-60 คน ปรากฏว่ามีเด็กถึง 5-6 คนที่มีปัญหาทางสายตา และมีบางคนที่ควรพบจักษุแพทย์ ซึ่งอาจารย์ทรายตระหนักดีว่า บทบาทของวิชาชีพนักทัศนมาตร นอกเหนือจากการประกอบอาชีพในสถานพยาบาลหรือบริษัทเอกชนต่างๆ ในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับด้านสายตาทั้งหมดแล้ว ยังมีส่วนสำคัญต่อแวดวงการศึกษาด้วย  “บทบาทของนักทัศนมาตร อย่างน้อยที่สุดเมื่อเราตรวจเจอปัญหาแล้วสามารถแนะนำได้อย่างเหมาะสม ว่าเขาควรจะได้รับดูแลอย่างไรต่อไป เพราะบางทีพ่อแม่ผู้ปกครองเองก็ไม่ทราบว่าเขาควรจะทำอย่างไรกับกรณีนั้นๆ ดี ซึ่งนักทัศนมาตรสามารถช่วยเหลือตรงนี้ได้    เช่นเดียวกับนักศึกษารายหนึ่งที่รู้สึกภูมิใจกับบทบาทของตนในพื้นที่การศึกษา เมื่อพบว่าทักษะที่เรียนมาสามารถแก้ปัญหาให้กับผู้อื่นได้

“ถึงแม้เราจะไม่ได้ช่วยเขาในด้านการผ่าตัดแบบจักษุแพทย์ แต่เราก็มีส่วนช่วยคัดกรองให้ได้ แนะนำให้ไปถูกทางได้

“นักทัศนมาตรกับจักษุแพทย์ต่างกันคือ เราจะเป็นผู้คัดกรองโรคและแก้ปัญหาสายตาในเบื้องต้น แต่จักษุแพทย์จะเน้นที่รักษาโรคและผ่าตัด เราผ่าตัดไม่ได้ก็จริง แต่เราคัดกรองโรคเบื้องต้นได้ และช่วยแบ่งเบาภาระของจักษุแพทย์ได้ด้วย”

การลงพื้นที่ครั้งนี้เป็นต้นแบบ (prototype) ที่สามารถเรียนรู้และนำไปปรับใช้กับพื้นที่อื่นๆ ต่อไป เป้าหมายที่นักทัศนมาตรคาดหวังคือ การที่ครูในโรงเรียนสามารถคัดกรองนักเรียนที่มีแนวโน้มว่าจะมีปัญหาสายตาได้ เพื่อที่การตรวจคัดกรองครั้งต่อไปจะเข้าถึงเด็กที่มีปัญหาได้มากขึ้นภายในระยะเวลาที่สั้นลง และขยายผลการทำงานให้เข้าถึงนักเรียนทั่วประเทศเพื่อสร้างความเท่าเทียมด้านทัศนวิสัยให้เกิดขึ้นจริง

No Comments

    Leave a Reply