News

มกอช. ติวเข้มเจ้าหน้าที่ สกอท.-ปศุสัตว์ พัฒนาระบบการรับรองฮาลาลไทยให้สอดคล้องตามมาตรฐานสากล

01/04/2022

นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ตลาดผู้บริโภคสินค้าฮาลาลถือเป็นตลาดที่มีความสำคัญ เนื่องจากประชากรมุสลิมทั่วโลก มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2564 โลกมีจำนวนประชากรมุสลิมถึง 1.9 พันล้านคน ซึ่งไทยได้สร้างรายได้จากการส่งออกสินค้าผลิตภัณฑ์ฮาลาลสูงถึง 449 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ สะท้อนให้เห็นว่าผลิตภัณฑ์ฮาลาลได้รับความสนใจ และมีความต้องการมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในประเทศต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและอาหารฮาลาล ที่ไทยมีศักยภาพในการผลิต และได้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวมุสลิมในประเทศคู่ค้าที่สำคัญ อาทิ กลุ่มประเทศคณะมนตรีความร่วมมือรัฐอ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ซึ่งประกอบด้วยซาอุดีอาระเบีย คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (United Arab Emirates: UAE) กาตาร์ และบาห์เรน ซึ่งเป็นตลาดนำเข้าอาหารฮาลาลสำคัญที่มีศักยภาพที่ผู้บริโภคมีกำลังซื้อสินค้าเป็นจำนวนมาก และมีแนวโน้มที่การบริโภคจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง อันจะเป็นโอกาสที่ได้เปรียบสำหรับผู้ประกอบการไทยในการแสวงหาเป้าหมายทางการตลาดใหม่ ๆ

อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมา ประเทศคู่ค้าของไทยได้มีการบังคับใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี (Non-Tariff Measures: NTMs) เพื่อควบคุมการนำเข้าและจำหน่ายสินค้า ซึ่งการบังคับใช้มาตรการดังกล่าว มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการบังคับใช้ข้อกำหนดด้านการรับรองฮาลาลในประเทศมุสลิมเพื่อควบคุมการนำเข้าและการผลิตสินค้าเกษตร และอาหารฮาลาล ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยและสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย (สกอท.) ซึ่งเป็นหน่วยรับรองฮาลาลแห่งเดียวของไทย ต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และทำให้ สกอท. จำเป็นต้องพัฒนาศักยภาพเจ้าหน้าที่รับรอง และระบบการรับรองฮาลาลให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้หน่วยรับรองฮาลาล และสินค้าฮาลาลไทยเป็นที่ยอมรับในประเทศคู่ค้า

ดังนั้น มกอช. จึงได้จัดการฝึกอบรมในหัวข้อ Introduction to ISO/IEC 17020 and OIC/SMIIC 35 : 2020 Conformity Assessment – General Requirements for the Competency of Laboratories Performing Halal Testing ผ่านระบบออนไลน์ ให้กับเจ้าหน้าที่รับรองของ สกอท. รวมถึงเจ้าหน้าที่ของ มกอช. และกรมปศุสัตว์ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้เข้ารับการฝึกอบรมมีความรู้ความเข้าใจข้อกำหนดสำหรับหน่วยตรวจ ISO/IEC 17020 และข้อกำหนดทั่วไปว่าด้วยความสามารถของห้องปฏิบัติการทดสอบฮาลาลตามมาตรฐาน OIC/SMIIC 35 : 2020 และเพื่อพัฒนาบุคลากรของห้องปฏิบัติการทดสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาล ผู้ตรวจสอบผลิตภัณฑ์ฮาลาลและผู้เกี่ยวข้องกับการทดสอบฮาลาลในการประยุกต์ใช้มาตรฐาน OIC/SMIIC 35 : 2020 ควบคู่กับมาตรฐานสากล ISO/IEC 17025 : 2017

” เมื่อหน่วยรับรองฮาลาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องของไทย สามารถนำความรู้ ความเข้าใจดังกล่าวไปประยุกต์ใช้ประกอบการปฏิบัติงานได้ จะส่งผลให้ระบบการตรวจสอบและรับรองอาหารฮาลาล และผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยได้รับการพัฒนาสอดคล้องกับมาตรฐานสากล เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการส่งออกสินค้าดังกล่าว”เลขาธิการ มกอช. กล่าว

No Comments

    Leave a Reply