นายพิศาล พงศาพิชณ์ เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) เปิดเผยว่า มกอช. ได้มอบหมายให้นายพรพรหม ชัยฤทธิไชย ที่ปรึกษา มกอช. ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทยในการประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง Virtual Workshop on ASEAN Single Window and e-Phyto Certification ผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอร์เรนซ์ โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมศุลกากร และ มกอช. เข้าร่วมการประชุม ซึ่งจัดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานเลขาธิการอาเซียน และองค์การเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (United States Agency for International Development-USAID) ภายใต้โครงการ ASEAN-USAID Inclusive Growth in ASEAN through Innovation, Trade and E-Commerce (ASEAN-USAID IGNITE)
โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อร่วมกันพิจารณาร่างรายงานการเปรียบเทียบระบบใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ระหว่างอาเซียนและสหรัฐอเมริกา เพื่อนำไปสู่การเชื่อมโยงระบบ e-Phyto ระหว่างทั้งสองฝ่าย ตามที่ USAID เคยแจ้งความประสงค์จะมีการเชื่อมโยงระบบดังกล่าวกับอาเซียน ในการประชุมผู้ประสานงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของอาเซียน (ASEAN SPS Contact Points: ASCP) ครั้งที่ 8 เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา
การประชุมเชิงปฏิบัติการครั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนและ USAID ได้ร่วมกันหารือและวิเคราะห์ร่างรายงานการเปรียบเทียบระบบและรายละเอียดของใบรับรองสุขอนามัยพืชอิเล็กทรอนิกส์ (e-Phyto) ของอาเซียนและสหรัฐอเมริกา โดยประเทศไทยได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการปรับปรุงรายละเอียดของระบบ e-Phyto ของอาเซียนให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของ IPPC เนื่องจากปัจจุบัน IPPC มีการปรับเปลี่ยนรายละเอียดหลักเกณฑ์บางส่วนของ e-Phyto อาเซียนจึงจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนรายละเอียดของ e-Phyto ที่ได้เคยเห็นชอบร่วมกันเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล เพื่อความสะดวก รวดเร็ว และเหมาะสมกับการใช้งานจริง โดยปัจจุบันมีประเทศคู่ค้าของอาเซียนที่แสดงความสนใจจะเชื่อมต่อระบบ e-Phyto ผ่านระบบ ASEAN Single Window ของอาเซียนหลายประเทศ เช่น จีน สหรัฐอเมริกา เป็นต้น
ปัจจุบันประเทศไทย โดยกรมวิชาการเกษตรอยู่ระหว่างการพัฒนาระบบ e-Phyto เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศคู่ค้า ผ่านระบบ National Single Window ของกรมศุลกากร รวมทั้งการเชื่อมโยงกับกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนผ่าน ASEAN Single Window โดยล่าสุด ไทยได้ทดลองเชื่อมต่อระบบ e-Phyto แบบ end-to-end กับอินโดนีเซียแล้วเมื่อเดือนธันวาคม 2563 และคาดว่าจะสามารถเริ่มใช้งานจริงได้ภายในปี 2564
ในส่วนของ มกอช. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบหมายให้ มกอช. ในฐานะหน่วยงานผู้ประสานหลักด้าน SPS ของไทย และผู้แทนไทยในการประชุมผู้ประสานงานด้านมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืชของอาเซียน (ASEAN SPS Contact Points: ASCP) เป็นหน่วยงานกลางที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานหลักด้านใบรับรองสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (e-SPS) โดยเป็นศูนย์กลางในการรวบรวมข้อมูลใบรับรอง e-SPS ซึ่งประกอบด้วยใบรับรองสุขอนามัยพืช (e-Phyto) ใบรับรองสุขภาพสัตว์ (e-AH) และใบรับรองความปลอดภัยอาหาร (e-FS) จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมวิชาการเกษตร กรมประมง และกรมปศุสัตว์ เพื่อจัดทำระบบฐานข้อมูล e-SPS ของไทยในภาพรวม เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้เป็นข้อมูลประกอบการจัดทำท่าทีฝ่ายไทยในการเจรจาแก้ไขปัญหาการนำเข้าส่งออกสินค้าเกษตรกับประเทศคู่ค้า
“ทั้งนี้ หากทั้งสองฝ่ายได้ข้อสรุปเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินการร่วมกันเรียบร้อยแล้ว ประเด็นดังกล่าวจะถูกเสนอเพื่อขอความเห็นชอบในที่ประชุม ASCP ครั้งที่ 9 และหยิบยกขึ้นเสนอในการประชุม SOM-AMAF เพื่อขอความเห็นชอบในระดับรัฐมนตรีต่อไป”เลขาธิการ มกอช. กล่าว
No Comments